วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

 

งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี article


งานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี

     ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นประเพณีเนื่องในพระพุทธศาสนากระทำกัน ในวันเข้าพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ในสมัยแรกยังไม่มีประเพณีหล่อเทียน แห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฝั่นเทียนยาวรอบศรีษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชา จำพรรษา หาน้ำมันไปถวายพระสงฆ์และหาเครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝน ไปถวายพระสงฆ์

    ต่อมาในสมัยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสุธรรมสิมธิประสงค์ เป็นข้าหลวง ต่างพระองค์ที่เมืองอุบลฯ คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่ บั้งไฟมีการทะเลาะวิวาททุบตีกันถึงแก่ความตาย ทรงเห็นว่าประเพณีบุญบั้งไฟไม่เหมาะสมเพราะบางครั้งบั้งไฟแตกถูกประชาชนบาดเจ็บ มีการเล่นคลุกดินคลุกโคลนสกปรกเลอะเทอะ ทั้งไม่ใช้ประเพณีทางศาสนาจึงให้ ยกเลิกประเพณีนี้ เปลี่ยนเป็นประเพณีแห่เทียน เข้าพรรษาแทน
  การแห่เทียนเข้าพรรษาแต่เดิมไม่ได้ทำใหญ่โตเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านร่วมกัน บริจาคเทียนแล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ หากกระดาษสีเงินสีทองเป็นลายฟันปลา บิดตามรอยต่อเสร็จแล้วก็แห่ไปถวายวัด ส่วนการทำเทียนในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท แบบติดพิมพ์ และแบบแกะสลัก

งานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี
 การทำเทียนแบบติดพิมพ์ 
   ใช้เครื่องมืออุปกรณ์มาก ขั้นตอนสลับซับซ้อนโดยวิธีพิมพ์ดอกจากแบบพิมพ์ แล้วนำมาติดกับลำต้น ลวดลายละเอียดเล็กยาว ไม่นูนหนา ลำต้นเทียนเล็กกว่าแกะสลัก

 การทำเทียนแบบแกะสลัก
  วิธีการจะไม่สลับซับซ้อน ลักษณะลำต้นใหญ่กว่าแบบติดพิมพ์ การแกะดอกหรือการแกะสลักหรือการแกะสลักลวดลายจะแกะจากลำต้น ลวดลายมีขนาดใหญ่ นูนหนา ลึกสลักซับซ้อน

ช่างเทียนคนแรกคือ พ่อโพธิ์ ส่งศรี ส่วนช่างแกะสลักเทียนที่มี ชื่อเสียงในปัจจุบันถ้าเป็นประเภทติดพิมพ์คือ นายประดับ ก้อนแก้ว ช่างเทียนประเภทแกะสลักได้แก่ นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ทั้งสองท่านได้รับ การยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาวิจิตรศิลป์ของ สำนักงาน วัฒนธรรมแห่งชาติ
กำเนิดงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี  อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอาจารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมือง อุบลราชธานีเป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุก หัวเมืองในภาคอีสาน
เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าว ร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวย   ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มีการประกวดเทียนพรรษาก่อน แล้วแห่รอบ เมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัด
งานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี
 จากงานประจำปีท้องถิ่นสู่งานประเพณีระดับชาติ  การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดก็จัดตกแต่งต้นเทียนของวัดตนให้สวยงาม นำมารวมกันที่บริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อประกวดแข่งขันกัน จากงานของชาวบ้านก็พัฒนามาสู่การสนับสนุนอย่างจริงจังจากส่วนราชการ พ่อค้า ห้างร้านเอกชน ร่วมกับประชาชน ทายกทายิกาคุ้มวัดต่างๆ

และใน ปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ในขณะนั้น) มาสังเกตการณ์ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยเฉพาะในปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541-2542) งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็น 1 ในงานประเพณีที่ถูกโปรโมตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนหลวงมาเป็นเทียนนำชัยขบวนแห่ แล้วจึงนำไปถวายยังอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี หมุนเวียนไปเป็นประจำทุกปี
สถานที่จัดงาน บริเวณทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

แหล่งอ้างอิง

http://www.tonkeian.com/index.php



วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

      ผ้ากาบบัว 
                                                                                       
   ในสาระหลายอย่างอันเกี่ยวข้องกับ อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศ มีประเด็นที่มุ่งหมายไปเกี่ยวข้องกับชื่อเมืองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปูมทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อคราว เจ้าปางคำตั้งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ที่หนองลำภูจนถึงสมัยสร้างบ้านแปงเมืองโดยเจ้าพระวอเจ้าพระตา จนเป็นเมืองอุบลนี้ โดยมีพระปทุมวรราชสุริยวงศ์เป็นเจ้าเมืององค์แรก
    ฉะนั้นไม่ว่า "บัว"หรือ"ปทุม" หรือ "อุบล" ก็ดีล้วนเป็นนามอันเกี่ยวกับเมืองอุบลมาโดยตลอดถึงแม้ว่าในทางพฤกษศาสตร์ปัจจุบันจะแบ่งสามพันธุ์ออกเป็นปทุม(บัวหลวง)และอุบล(บัวสาย)ก็ตาม ผู้เขียนใคร่ขอแสดงทรรศนะว่า ยังมีนัยทางปรัชญา และพุทธศาสนา ซึ่งน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่ารูปลักษณ์ และสายพันธุ์ของพืชน้ำนี้ที่เกิดและเจริญเติบโตได้ในโคลนตม แล้วงอกงามพ้นน้ำเป็นดอกบัวอันบริสุทธิ์ อันถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และปัญญา

เมืองดอกบัว - ผ้ากาบบัว
    เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศนี้ ได้แผ่ขยายเติบโตมีวิวัฒนาการโดยกลุ่มชนที่เรียกว่า"ชาวอุบล" มาเป็นเวลากว่าสองร้อยปี ทำให้เกิดการสั่งสม และพัฒนาการทั้งทางการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนามาโดยลำดับจนถึงปีพุทธศักราช 2543 ทางราชการ ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของรูปแบบ และแพรพรรณที่ใช้ในการนุ่งห่มของชาวเมืองว่าควรจะมีเอกลักษณ์สำคัญอย่างไร อีกทั้งควรจะมีการรณรงค์ให้ใช้ผ้าชนิดนี้อย่างทั่วถึง
    โครงการสืบสานผ้าไทย สายใยเมืองอุบลจึงได้เกิดขึ้นเพื่อสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยมอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมืองเป็นผู้สานต่อ จนได้ลายผ้าอันมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ "ผ้ากาบบัว"
    เมืองพิจารณาถึงปูมหลัง จึงหวัดอุบลราชธานีเคยมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่เคยขาดสายตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ยุคเริ่มแรกของอาณาจักรขอม ยุคสมัยก่อตั้งเมืองอุบลของกลุ่มชนชาติพันธุ์ลาว จนถึงยุคแห่งการเป็นจุดศูนย์กลางในทางการเมือง การปกครอง การศาสนา รวมทั้งทางการศึกษาของเมืองบรรดาหัวเมืองอีสานของรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการเติบโตและพัฒนาการของเมืองในระยะต่างๆ ดังกล่าวได้หล่อหลอมให้เมืองอุบลมีลักษณะศิลปะและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง รวมทั้ง "ผ้าอุบล" อันเป็นเครื่องชี้ความมีเอกลักษณ์ และความเป็นอารยะของชน ชนนี้

คนอุบลแต่งตัวอย่างไร
    หากรวบรวมจากหลักฐานที่มีอยู่คือผ้าโบราณมาจนถึงสิ่งทอที่ยังมีการผลิตและใช้สอยอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลาย ไม่ว่าจะพิจารณาจากลักษณะการใช้งาน หรือเทคนิควิธีในการทอก็ดี ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นผ้าในรูปแบบต่างๆที่มีการนุ่งหรือใช้สอยดังนี้
    สำหรับฝ่ายชาย ได้แก่ ผ้าปูม(ทอแบบมัตหมี่สำหรับนุ่งโจง) ผ้าวา หรือผ้าหางกระรอก (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าโสร่ง (ทอคั่นเส้นมับไม)ผ้าสร้อยปลาไหล (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าแพรอีโป้ (ผ้าขะม้า)ผ้าปกหัว (นาค) และผ้าแพรมน เป็นต้น
    ส่วนผ้าสำหรับฝ่ายหญิง มีซิ่นชนิดต่างๆคือซิ่นยกไหมคำ (ดิ้นเงิน-ดิ้นทอง) ซิ่นขิดไหม (ยกดอกด้วยไหม)ซิ่นหมี่ ซิ่นทิว ซิ่นคั่น ซิ่นไหมควบ (บางท่านเรียนซิ่นมับไม) ซิ่นลายล่อง หรือซิ่นหมี่ชิดค้ำเป็นต้น ส่วนประกอบของซิ่นคือ หัวซิ่นจกดาว ตีนซิ่น ตีนตวย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผ้าห่ม (ถือ) หรือผ้าเบี่ยง (สไบ) และผ้าตุ้มอีกมากมายหลายแบบ ทั้งนี้ยังปรากฏลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์อีสาน เช่น กูย ผู้ไท ส่วย ซึ่งอาศํยกระจายอยู่ตามพื้นที่อันกว้างไหญ่โดยรอบ
    ดังนั้น ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวอุบลนี้จึงมีมากมายหลายรูปแบบ และเทคนิควิธี นับได้ว่าเมืองอุบลเป็นแหล่งทอผ้าสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

ผ้ากาบบัว
    ชื่อนี้พบในวรรณกรรมโบราณอีสานของเมืองอุบล มีคำและความหมายเหมาะสมกับชื่อจังหวัดเมื่อไม่พบและไม่มีการผลิตในปัจจุบันแล้วจึงได้นำชื่อนี้มาเป็นชื่อผ้าเอกลักษณ์อุบล ที่ทอขึ้นใหม่โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

ลักษณะและเทคนิคการทอผ้ากาบบัว
    เนื่องจากอุบลราชธานีเป็นดินแดนกว้างใหญ่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นแหล่งทอผ้าสำคัญในอดีตจึงควรที่จะได้มีการอบรมเทคนิคการทอต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นฝีมือเชิงช่างทอผ้าชาวอุบล โดยอาจทอให้เกิดผ้าตามลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

ผ้ากาบบัว
    อาจทอด้วยฝ้าย หรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสี มับไม(ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ และขิด
    ผ้ากาบบัว (จก) คือผ้าพื้นทิว หรือผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว(บางครั้งเรียก เกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วน หรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้าเพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก)นี้เหมาะที่จะใช้งานในพิธีหรือโอกาสสำคัญ
    ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก (บางครั้งเรียกขิด) ด้วยไหมคำ(ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงิน หรือไหมสีต่างๆ อันเป็นผ้าที่ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณผ้าทอของเมือง
    เพื่อให้ผ้ากาบบัวอันเป็นผ้าลักษณะของเมืองอุบล มีพัฒนาการต่อไป อยู่ในความนิยมของประชาชน และส่งเสริมให้ผ้าทอของจังหวัดอุบลราชธานี มีความประณีตงดงามอย่างยั่งยืนนั้น ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความคิดเห็นต่อช่างทอ หรือกลุ่มทอผ้าต่างๆในเมืองอุบล ดังนี้


    ผ้ากาบบัว
    เน้นการย้อมสีจากพืชพรรณ หรือ สีทำนองธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทอ และใช้งานอย่างแพร่หลาย อีกทั้งลดข้อจำกัดเรื่องราคา ให้กับผู้ใช้ผ้า จึงแยกทอเป็นผ้าแตกต่างกัน ดังนี้
    - เส้นยืนผ้าย (เครือทิว)พุ่งด้วยฝ้ายสี ฝ้ายมัดหมี่ ขิดฝ้าย
    - เส้นยืนไหม (เครือทิว) พุ่งด้วยไหม ไหมมัดหมี่ ขิดไหม
    ทั้งนี้เพื่อกำหนดต้นทุนและเวลาในการผลิตให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผ้าที่มีราคาพอเหมาะ กับความจำเป็นในการใช้งานในโอกาสต่างๆ



ผ้ากาบบัวระยะที่ 1
(ภาพจากหนังสือบัวงามนามอุบล ยลเทียนพรรษา : 2543)

                                                                                ผ้ากาบบัว(ไหม)และอุปกรณ์การทอ                                                                                                                                                                    (ภาพจากหนังสือบัวงามนามอุบล ยลเทียนพรรษา : 2543)

    
ผ้ากาบบัว (จก)
    แหล่งทอผ้าที่สามารถทอผ้ากาบบัวได้เป็นอย่างดีแล้วอาจเพิ่มทักษะในการจกหรือเกาะเป็นลายดาว เพื่อให้มีความงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้นอาจจกด้วยไหมดิ้นเงินหรือดิ้นทอง จะทำให้ผ้ามีความงามหรูหรายิ่งขึ้น



ผ้ากาบบัว (จก)
(ภาพจากหนังสือบัวงามนามอุบล ยลเทียนพรรษา : 2543)

   

 ผ้ากาบบัว (คำ)
    เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของเมืองอุบล สืบเนื่องมาแต่พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งได้ทรงชมเชยผ้าเยียรบับ (ผ้ายกทอง) ที่ได้รับการทูลเกล้าฯถวายจากกรมหลวงสรรพสิทธ์ประสงค์ว่า "ทอดีมาก เชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย" จึงสมควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงยกย่องชมเชยผ้าเมืองอุบล ด้วยการส่งเสริมให้มีการทอผ้ากาบบัวคำนี้ ทอด้วยเทคนิคขิดหรือยกด้วยไหมคำ (หรือดิ้นทอง) อาจแทรกผสมด้วย มัดหมี่ เทคนิคจกหรือเกาะ ด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้าเพื่อสะท้อนให้เห็นการสั่งสมทางวัฒนธรรมอันงดงาม ให้ยาวนานสืบไป
    ผ้ากาบบัวที่กำลังถักทอในท้องที่ต่างๆ ของเมืองอุบล ซึ่งได้รับการรณรงค์ส่งเสริมจากทุกหน่วยงาน และสนับสนุนโดยชาวอุบลในขณะนี้ ก็คือตัวแทนของผ้าเมืองอุบล อันมีรูปลักษณ์และจิตวิญญาณผสมผสานกับความภาคภูมิในเกียรติภูมิของวัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งเมื่อมีการใช้สอยผ้ากาบบัวโดยชาวอุบล ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลในท้องถิ่น เพราะเกิดพัฒนาการทางฝีมือให้ดียิ่งไปในที่สุด
    อนึ่งการรวบรวมหลายเทคนิควิธีการทอในผืนผ้าย่อมเกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการทอ เกิดพื้นฐาน เกิดพัฒนาการทางฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปในที่สุด
    เมื่อพิจารณาจากสี เริ่มจากขาวอันพิสุทธิ์ของกลีบดอก หรือกาบบัว สีอาจไล่แปรเปลี่ยนเป็นชมพู เขียวจาง ทองอ่อน เทาขี้ม้าไปจนถึงน้ำตาลไหม้ แสดงลักษณะทางธรรมชาติที่สอดคล้องกับการใช้สีทุกยุคสมัย ปรับไปใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย
    ผ้ากาบบัว  ของชาวอุบลนี้จึงไม่ควรเป็นแต่เพียงผ้าที่สมมุติให้แทนเอกลักษณ์ หากแต่เป็นจุดเริ่มของพลังรักในท้องถิ่นที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเกียรติภูมิของกลุ่มชนชาวอุบล


ผ้ากาบบัว (คำ)ทอในเทคนิคขิด(ยก)ดิ้นทอง มัดหมี่และจก

                    ผ้ากาบบัว (คำ)เชิงผ้าแสดงลายตวย(ตีนตวย)หรือกรวยเชิง                            
(ภาพจากหนังสือบัวงามนามอุบล ยลเทียนพรรษา : 2543)


           แหล่งอ้างอิง
           
          http://www.lib.ubu.ac.th/html/report/thaisilk/picculor8.jpg